ความเป็นมาของ สหกรณ์สวนป่า ภาคเอกชน
จัดตั้งขึ้นในปี 2537 โดยความร่วมมือกับกรมป่าไม้ เพื่อทำหน้าที่จัดหาทุนให้เกษตรกรปลูกป่าในที่ดินที่เป็นเอกสารสิทธิ์ไร่ละ 3000 บาท โดยชำระให้เป็นรายปี 5 ปี จึงทำให้เกษตรกรมีการรวมตัวกันเพื่อเรียนรู้ แบ่งปันความรู้ และขยายพื้นที่ป่านอกเขตป่าธรรมชาติออกไปอย่างยั่งยืน กรมป่าไม้จึงได้ขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์สวนป่าให้กับเกษตกรกลุ่มนี้เพื่อเป็นต้นแบบของสหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน เป้าหมายคือเพื่อขยายผืนป่าไปทุกจังหวัด ลงไปถึงระดับอำเภอ และตำบล เพื่อให้สมาชิกในสหกรณ์ได้ปลูกต้นไม้แบบยั่งยืนและมีรายได้
จากการที่ปัจจุบันนี้ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ เหลืออยู่เพียง 26 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จึงได้ทำการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้กันเพิ่มมากขึ้น โดยสหกรณ์สวนป่าเป็นองค์กรหนึ่งที่คอยทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนได้ปลูกป่าในที่ดินของตนเองให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีคณะวนศาตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ กรมป่าไม้ เป็นที่ปรึกษา
สมาชิกที่เข้าร่วมกับสหกรณ์จะได้รับความรู้เรื่องการดูแลมาตรฐานต่างๆของไม้ในสวน ทำให้การปลูกสวนป่ามีมาตรฐานและเกิดประโยชน์สูงสุด ปลุกจิตสำนึกให้คนมีหัวใจเป็นสีเขียวร่วมกันปลูกต้นไม้ ซึ่งเรียนรู้ร่วมกันได้ สหกรณ์สวนป่าจะให้ความรู้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะปลูกต้นไม้ชนิดไหน ปลูกอย่างไร ใช้ดินอย่างไร ตลอดจนสนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่าย ดังนั้น ประชาชนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ หรือคนที่มีที่ดินว่างเปล่า หรือ มีที่ดินปลูกสวนป่าอยู่แล้ว สามารถเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์สวนป่าเพื่อพัฒนาสวนป่าแบบยั่งยืน ซึ่งจะสามารถช่วยให้ธรรมชาติของประเทศกลับมามีความสมดุลเพิ่มมากขึ้น ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “การที่จะมีต้นน้ำลำธารไปชั่วกาลนานนั้น สำคัญอยู่ที่การรักษาน้ำ และปลูกป่า”
วัตถุประสงค์
เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิกโดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักสหกรณ์รวมทั้งในข้อต่อไปนี้
1. ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ี่ภาคเอกชนให้ได้ 40% ของประเทศ โดยเน้นปลูกต้นไม้ยืนต้นที่เป็นไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก ไม้ยางนา ไม้พะยูง ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัน ไม้มะค่า ต้นชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ ต้นปาล์ม เป็นต้น
2. ผลิตไม้เพื่อใช้ในประเทศให้เพียงพอและส่งออกต่างประเทศ และลดการตัดไม้ทำลายป่าธรรมชาติ
3. ประสานงานกับองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น FAO WHO ในเรื่องจัดหางบประมาณเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการปลูกต้นไม้ ขยายพื้นที่ป่าภาคเอกชน
4. จัดทำฐานข้อมูลต้นไม้ของสมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศเพื่อการบริหารจัดการแบบมืออาชีพอย่างยั่งยืน
5. รวบรวมผลิตผลการเกษตร ผลิตภัณฑ์และบริการของสมาชิกมาจัดจำหน่าย
6. ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และจัดให้มีสินเชื่อแก่สมาชิกเพื่อการประกอบอาชีพ
7. ส่งเสริมและเผยแพร่อาชีพการเกษตร เพื่อให้สมาชิกมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง
8. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของสหกรณ์และสวนป่า ให้เข้มแข็งเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน
9. ส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกป่าทุกรูปแบบ ทั้งการปลูกป่าในที่ดินของรัฐและการปลูกสร้างสวนป่าในที่ดินเอกชน การดำเนินงานในรูปแบบของสหกรณ์สวนป่า การปลูกป่าเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นๆ รวมทั้งการดำเนินงานเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยสวนป่า และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง